ทุกสิ่งเมื่อผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานก็ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกันกับรถประเภทต่างๆ เมื่อมีอายุการใช้งานค่อนข้างเยอะก็ย่อมทำให้สรรถนะในการขับขี่ลดลงได้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรตรวจสภาพรถเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดเพื่อตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับรถของเรา
ทำไมถึงต้องตรวจสภาพรถ
เพื่อต่อภาษีรถยนต์ การตรวจสภาพรถเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งในการยื่นต่อภาษีสำหรับรถที่มีอายุการใช้งานเป็นระยะเวลาครบตามที่พรบ.กำหนด เพื่อเป็นการรับรองว่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นๆ ยังมีสภาพที่พร้อมใช้งานตามระเบียบข้อบังคับของกรมการขนส่ง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและเพื่อสร้างความปลอดภัยในการขับขี่มากยิ่งขึ้น โดยผู้ขับขี่จะต้องนำใบรับรองการตรวจสภาพรถไปยื่นเป็นหลักฐานเพื่อทำการต่อภาษีประจำปีทุกครั้ง
เพื่อความปลอดภัย การนำรถไปตรวจสภาพเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับเครื่องยนต์รวมถึงส่วนต่างๆ ของรถทุกประเภท เมื่อพบความผิดปกติ ชำรุดหรือเสื่อมสภาพจะได้ซ่อมแซมได้ทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนนของทั้งผู้ขับขี่ไปจนถึงทุกคนที่สัญจรอยู่บนท้องถนน
ยืดอายุการใช้งาน การนำรถไปตรวจเป็นประจำก็เหมือนเป็นการคอยดูแลเครื่องยนต์ และส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถให้ยังคงสภาพการใช้งานได้ดี เมื่อไม่มีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรถ ก็สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาตรวจสภาพรถแล้ว
ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้ระบุไว้ว่า“รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พศ. 2522 หรือนำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พศ. 2522 จะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับรถ ผู้โดยสารไปกับรถคันนั้น ผู้ขับขี่รถคันอื่นๆ คนเดินถนน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ” เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดพระราชบัญญัติ รถที่เข้าเกณฑ์การตรวจสภาพก่อนเสียภาษีประจำปีจึงสรุปรายการได้ดังนี้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป
การนับอายุการใช้งานของยานพาหนะ จะเป็นการนับโดยอ้างอิงจากการจดทะเบียน โดยให้นับอายุเริ่มต้นที่วันจดทะเบียนเป็นครั้งแรก จนถึงวันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์จดทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2560 ต้องเริ่มตรวจสภาพรถยนต์ครั้งแรกในปี 2567 หรือถ้าหากเป็นรถมอเตอร์ไซค์ ถ้ารถจดทะเบียนเมื่อปี 2560 จะต้องตรวจสภาพรถครั้งแรกในปี พ.ศ. 2565
สามารถนำรถไปตรวจสภาพที่ไหนได้บ้าง
สถานที่ที่สามารถไปตรวจสภาพรถได้มีอยู่ 2 แห่งนั่นก็คือ
สถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ. เป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งให้มีความสามารถในการตรวจสอบสภาพรถก่อนจะนำไปยื่นต่อภาษี ซึ่งผู้ขับขี่สามารถนำรถประเภทต่างๆเข้าไปตรวจสภาพได้ในกรณีที่ไม่สะดวกนำรถไปตรวจตามกรมขนส่งประจำจังหวัด ยกเว้นรถบางประเภทที่ไม่สามารถนำมาตรวจสภาพกับตรอ.ได้แต่ต้องนำไปตรวจที่ กรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
กรมการขนส่งทางบก
ผู้ขับขี่สามารถนำรถทุกประเภทรวมถึงประเภทที่ไม่สามารถตรวจที่ตรอ.เข้ามาตรวจที่นี่ได้ ซึ่งประเภทของรถที่จำเป็นต้องนำมาตรวจที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้นมีดังนี้
• รถที่ถูกดัดแปลงไปจากลักษณะเดิมโดยการ เปลี่ยนสีรถ เปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้มีความแตกต่างไปจากเดิมจากรายการที่จดทะเบียนไว้ในคู่มือทะเบียนรถเช่น การเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เปลี่ยนเครื่องยนต์
• รถที่ปัญหากับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ เช่น หาเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ไม่พบ ตัวเลขชำรุดหรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูดลบตัวเลขจนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้
• รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วเพิ่งได้รับคืน
• รถที่เจ้าของได้แจ้งหยุดใช้ชั่วคราวหรือแจ้งระงับการใช้ตลอดไป
• รถที่มีทะเบียนรุ่นเก่าเช่น กท-00001 หรือ กทจ-0001 เป็นต้น ซึ่งถ้าหากจะนำไปต่อภาษี ต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่ก่อนเท่านั้น
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเข้ารับการตรวจสภาพรถ
เตรียมเอกสาร
เอกสารที่จำเป็นในการตรวจสภาพรถคือ เล่มทะเบียน สำหรับรถยนต์จะเป็นเล่มสีฟ้าส่วนรถจักยานยนต์จะเป็นเล่มสีเขียว แต่ถ้าหากไม่มีเล่มทะเบียนฉบับจริงสามารถนำสำเนาทะเบียนรถจากไฟแนนซ์ (กรณีสำเนาทะเบียนรถหาย) หรือสามารถไปทำเล่มใหม่ที่กรมขนส่งทางบกก่อนไปเข้ารับการตรวจสภาพรถได้
เตรียมค่าธรรมเนียม
ค่าบริการของสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) หรือกรมการขนส่งทางบกนั้นมีอัตราค่าบริการที่เท่าๆ กัน โดยจะคิดจากน้ำหนักของรถเป็นหลัก ซึ่งแบ่งการคิดค่าบริการการตรวจได้ดังนี้
• รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
• รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท
• รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
ค่าธรรมเนียมนี้เป็นค่าบริการต่อการตรวจหนึ่งครั้ง แต่ในกรณีที่รถอยู่ในเกณฑ์ไม่ผ่านการตรวจสภาพ เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจจจะแจ้งข้อบกพร่องที่เป็นเหตุให้รถนั้นๆไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจ ซึ่งถ้าหากเจ้าของรถนำรถไปซ่อมแซม แก้ไขข้อบกพร่อง แล้วนำกลับมาตรวจสภาพที่สถานที่ตรวจเดิมภายใน 15 วัน เจ้าของรถจะเสียค่าบริการการตรวจเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราค่าบริการเติม แต่ถ้าหากเกิน 15 วันขึ้นไปหรือนำกลับไปตรวจที่สถานตรวจใหม่ จะต้องเสียค่าตรวจสภาพรถเต็มอัตราค่าบริการที่กำหนดไว้
กระบวนการตรวจสภาพรถ
จะเป็นการตรวจตั้งแต่ความถูกต้องของเอกสาร ข้อมูลของรถ ไปจนถึงสภาพทั้งภายนอกและภายในของรถ รวมถึงสมรรถนะขององค์ประกอบรถส่วนต่างๆ โดยมีรายละเอียดขั้นตอนการตรวจดังนี้
1. ตรวจความถูกต้องของข้อมูล เพื่อเช็คว่ารถที่นำมาตรวจนั้นตรงกับข้อมูลในทะเบียนรถหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ประเภทของรถ ลักษณะรถ สีรถ ป้ายทะเบียน หมายเลขตัวถังเครื่องยนต์ ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ ซึ่งถ้าหากพบว่า แผ่นป้ายทะเบียนชำรุดหรือสูญหาย หมายเลขเครื่องยนต์ลบเลือน ถูกขูด ลบจนไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือมีการแก้ไขดัดแปลงส่วนประกอบของรถให้ต่างไปจากรายละเอียดที่จดไว้ในเล่มทะเบียน ทางตรอ.หรือกรมการขนส่งทางบกสามารถระงับการตรวจสภาพได้ทันที
2. ตรวจสภาพตัวรถทั้งภายนอก ภายในและใต้ท้องรถ การตรวจเช็คภายในรถจะดูตั้งแต่พวงมาลัย ระบบบังคับเลี้ยว ไฟสัญญาณ แตร ที่ปัดน้ำฝน กระจกกันลมทั้งหน้าและหลัง กระจกมองหลัง ที่นั่งผู้ขับและผู้โดยสาร เข็มขัดนิรภัย ระบบไฟฟ้าและมาตรวัด
การตรวจภายนอกรถ เป็นการตรวจของ สีรถ ไฟเลี้ยว ไฟหรี่ ไฟท้าย ไฟเบรคและไฟอื่นๆ กันชนหน้าและท้าย โครงสร้างตัวถัง บังโคลน ล้อรถและยาง ประตู และกระจกข้าง
การตรวจใต้ท้องรถ จะเป็นการตรวจกลไกบังคับเลี้ยว สปริง โช๊คอัพ โครงสร้างตัวถัง คลัทช์ เกียร์ เพลากลาง เฟืองท้าย ระบบไอเสีย ระบบเชื้อเพลิง ระบบรองรับน้ำหนัก และระบบกำลังส่งเป็นต้น
3. ทดสอบศูนย์ล้อหน้า ทำการตรวจโดยการขับรถตรงผ่านเครื่องทดสอบ ด้วยความเร็วประมาณ 3-5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นทำการปล่อยมือจากพวงมาลัย ซึ่งค่าเบี่ยงเบนของล้อที่เกิดขึ้นในขณะปล่อยมือจะต้องไม่เกิน 5 เมตรต่อกิโลเมตร
4. ทดสอบระบบเบรก เพื่อตรวจประสิทธิภาพการเบรกว่ายังสามารถทำงานได้ดีอยู่หรือไม่ โดยทำการทดสอบบนลูกกลิ้งดังรูปด้านล่างนี้ เพื่อวัดประสิทธิภาพการเบรกของล้อแต่ละข้าง โดยค่อยๆเหยียบเบรกไปเรื่อยๆ จนถึงแรงเบรกสูงสุด ซึ่งผลที่อยู่ในเกณฑ์ที่ผ่านได้มีดังนี้
- เบรกมือ ต้องมีแรงห้ามล้อทุกล้อรวมกันไม่น้อยกว่า 20% ของน้ำหนักรถ
- เบรกเท้า ต้องมีแรงห้ามล้อทุกล้อรวมกันไม่น้อยกว่า 50% ของน้ำหนักรถ
- ผลต่างของแรงเบรกของล้อซ้ายและขวาต้องไม่เกิน 25% ของแรงห้ามล้อสูงสุด
5. ตรวจวัดโคมไฟหน้ารถ
เพื่อตรวจสอบว่ามีค่าเบี่ยงเบนแสงและความเข้มข้นของแสงเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ โดยพินิจสภาพ จำนวน สีของแสง ตรวจวัดระยะการติดตั้งของโคมไฟและทดสอบการทำงานของโคมไฟโดยการเปิดสวิตช์ โดยควรตรวจตอนที่รถไม่มีการบรรทุกของใดๆมาด้วยเพื่อให้การตรวจไฟมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
6. ตรวจวัดคาร์บอนมอนอกไซด์(Co) และไฮโดรคาร์บอน (Hc)
เพื่อเป็นการวัดว่ารถมีการปล่อยก๊าซดังกล่าวเกินในปริมาณที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโรคาร์บอนขึ้นอยู่กับปีที่จดทะเบียนรถ แบ่งได้ดังนี้
• รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อน 1 ม.ค.2550 ต้องมีค่าปริมาณการปล่อยก๊าซ Co ไม่เกินร้อยละ 4.5 และก๊าซ Hc ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
• รถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2550 ถึง 31 ธ.ค. 2556 ต้องมีค่าปริมาณการปล่อยก๊าซ Co ไม่เกินร้อยละ 0.5 และก๊าซ Hc ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน
• รถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไป ต้องมีค่าปริมาณการปล่อยก๊าซ Co ไม่เกินร้อยละ 0.3 และก๊าซ Hc ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน
7. ตรวจวัดค่าควันดำ โดยการเร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่งในเกียร์ว่างและปิดระบบปรับอากาศ
โดยการตรวจวัดค่าควันดำด้วยระบบความทึบแสงขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ต้องมีค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 และการตรวจโดยใช้กระดาษกรองค่าควันดำ (Filter) ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ต้องมีค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 40
8. ตรวจวัดระดับเสียงจากท่อไอเสีย ซึ่งระดับเสียงของเครื่องยนต์ที่กำหนดไว้ต้องดังไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ จึงจะถือว่าผ่านมาตรฐาน
9. รอรับผล หลังจากทำการตรวจสภาพรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะพิมพ์ผลรายงานการตรวจให้ทางเจ้าของรถ ในกรณีที่รถผ่านเกณฑ์ครบถ้วน ท่านสามารถนำใบรับรองนี้ไปยื่นต่อภาษีรถได้เลย แต่ถ้าหากไม่ผ่าน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบถึงข้อบกพร่องและปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถ ซึ่งท่านสามารถไปซ่อมแซมในส่วนนั้นๆ และนำกลับมาตรวจใหม่อีกครั้งที่สถานที่เดิมภายใน 15 วันจะเสียค่าธรรมเนียมเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราค่าบริการ แต่ถ้าหากนานกว่านั้นก็ต้องจ่ายค่าบริการเต็มอัตราตามที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น
สามารถตรวจสภาพรถล่วงหน้าได้นานแค่ไหน
ใบรับรองการตรวจสภาพรถมีอายุ 90 วัน นับตั้งแต่วันที่พนักงานตรวจสอบได้ทำการออกใบรับรองให้ นั่นหมายความว่าหากภายใน 90 วันข้างหน้าถึงเวลาที่ท่านต้องไปต่อภาษีรถยนต์ ท่านสามารถนำรถเข้ามาตรวจล่วงหน้าได้ภายใน 90 วัน เมื่อถึงวันที่ต้องไปต่อภาษีท่านก็สามารถนำใบรับรองนี้ พร้อมสมุดจดทะเบียน เข้าไปทำการต่อภาษีรถยนต์ได้เลยทันที
การตรวจสภาพรถนั้นไม่เพียงแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ยังเป็นการสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ในกับผู้ขับขี่ ผู้โดยสารและทุกๆคนที่ใช้ถนนร่วมกัน และยังเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย